home school คืออะไร

การจัดการศึกษาโดยครอบครัวหรือการทำโฮมสคูลสามารถทำได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความต้องการ วิถีชีวิต แนวคิด และสถานภาพของแต่ละครอบครัว ขอรวบรวมเท่าที่ทราบและนึกออกมาเล่าไว้ (เฉพาะระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ ถึงมัธยมปลาย) เพราะข้อนี้ถือเป็นคำถามยอดฮิตที่คนทำโฮมสคูลหรือคิดจะทำโฮมสคูลต้องการทราบเป็นอันดับต้นๆ ทีเดียว[break]

การทำโฮมสคูลแบ่งเป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ

  • ไม่ต้องการวุฒิการศึกษา ก็ไม่ต้องคิดอะไรมากมาย จัดไปได้ตามต้องการของครอบครัว อาจจะมีจดหมายมาเรียกตัวเมื่ออายุถึงเกณฑ์เข้าโรงเรียน (7 ขวบ) และอาจจะต้องเสียค่าปรับ (แต่ไม่รู้ว่าเคยมีใครต้องจ่ายจริงไหม เท่าที่เจอยังไม่มี)

 

  • ต้องการวุฒิการศึกษา ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีหลายช่องทางให้เลือกได้ ขอยกตัวอย่างเท่าที่ทราบข้อมูลดังนี้ จดทะเบียนการจัดการศึกษาโดยครอบครัวกับเขตพื้นที่การศึกษาตามพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่

การจดทะเบียนกับเขตฯสามารถจดได้ตั้งแต่ระดับชั้นก่อนประถมเมื่ออายุครบ 4 ปีเต็ม (อนุบาล 1 และ 2 อิงตามโรงเรียนรัฐบาล) จนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยที่ การจดระดับอนุบาลนั้นไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ จะจดหรือไม่จดก็ได้ หากไม่จดก็สามารถเริ่มจดตามเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับตอนอายุครบ 7 ปี หรือระดับประถม 1 ได้เลย

โดยการจดทะเบียนกับเขตการศึกษานั้น ครอบครัวจะต้องเขียนแผนการเรียนไปยื่นให้กับเขตเพื่ออนุมัติ สำหรับข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนกับเขตฯสามารถอ่านรายละเอียดได้ตามนี้ค่ะ แนวทางปฏิบัติและการจัดทำแผนการจัดการศึกษาโดยครอบครัว, แนวทางการเขียนแผนการจัดการศึกษาโดยครอบครัว

ข้อดีของการจดทะเบียนกับเขตฯเท่าที่เห็นเป็นรูปธรรมก็คือ เราจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเหมือนกับเด็กในระบบ (และได้มากกว่าด้วยค่ะ :D) รายละเอียดเงินอุดหนุนจากรัฐบาลปีการศึกษา 2555 และได้รับการสนับสนุน แนะนำ รวมถึงข้อมูลต่างๆ จากเขตฯ เช่น หากต้องการไปร่วมทัศนศึกษากับโรงเรียนก็สามารถติดต่อผ่านเขตฯขอไปด้วยได้, ขอเข้าร่วมทำกิจกรรมบางอย่างกับทางโรงเรียนในสังกัดเขตฯนั้น, ทางเขตฯจะคอยแจ้งข้อมูลการสอบแข่งขัน การทดสอบต่างๆ หรือกิจกรรมทางด้านการศึกษาที่มีการจัดทั้งในระดับจังหวัดถึงระดับส่วนกลางให้เราทราบเพื่อเข้าร่วมด้วยหากต้องการ รวมถึงการขอสื่อการเรียนการสอนจากทางโรงเรียนก็สามารถทำได้ (เช่น สื่อจำพวก CD, VCD) เป็นต้น

ส่วนข้อเสียก็คงแล้วแต่ว่าจะเจอกับเขตฯแบบไหน ถ้าเจอเขตฯที่ไม่สนับสนุน ไม่เข้าใจ ไม่พยายามทำความเข้าใจร่วมกัน หรือความต้องการของครอบครัวกับกรอบของเขตฯไม่ตรงกัน ก็อาจจะทำให้ลำบากหน่อย ^^”

กศน.

ปัจจุบันการสอบเทียบสำหรับเด็กในระบบโรงเรียน (เช่น เรียนอยู่ ม. 1, 2 แล้วสอบเทียบจบ ม. 3 ไปเลย หรืออยู่ ม. 4, 5 แล้วสอบเทียบ ม. 6 แล้วสามารถ entrance ได้เลย) ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว กศน.มีการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน มี 3 รูปแบบ คือ
การศึกษาวิธีเรียนพบกลุ่ม เน้นหนักการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นหลัก มีการพบกลุ่มเพื่อนำสิ่งที่ได้ไปศึกษาค้นคว้า แล้วมานำเสนอ อภิปราย และสรุปร่วมกันในลักษณะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน การศึกษาวิธีเรียนทางไกล เป็นวิธีการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยผ่านสื่อการศึกษาทางไกล ได้แก่ ชุดการเรียนทางไกล CD VCD รายการทางวิทยุและโทรทัศน์ Internet เป็นต้น การประเมินเทียบระดับการศึกษา เป็นการประเมินจากความรู้ ทักษะ ผลงาน ประสบการณ์จากแฟ้มสะสมผลงาน โครงงาน การสอบ ปฏิบัติ สัมภาษณ์ และทำกิจกรรมเข้าค่ายหรือกิจกรรม กพช. (กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต) โดยแต่ะละแบบก็มีข้อกำหนด เช่น เงื่อนไขเรื่องอายุ, การใช้เพื่อศึกษาต่อ ฯลฯ ที่แตกต่างกันไป สามารถอ่านข้อเปรียบเทียบของทั้ง 3 แบบเพื่อเลือกรูปแบบที่เหมาะสมได้ที่ เปรียบเทียบวิธีเรียน 3 วิธี

ฝากชื่อ/จดกับโรงเรียนที่รับเด็กบ้านเรียน

เช่น โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก จ. กาญจนบุรี (แต่ปัจจุบันหยุดรับเพราะจำนวนเด็กมีเยอะมากแล้ว ยังไม่แน่นอนว่าจะเปิดรับอีกเมื่อไหร่), โรงเรียนรุ่งอรุณ (เพิ่งเปิดรับภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2555 เป็นครั้งแรก) ซึ่งมีรายละเอียดลงไว้แล้วที่ โครงการเปิดรับนักเรียนของกลุ่มบ้านเรียน ในโรงเรียนรุ่งอรุณ หรืออาจลองติดต่อโรงเรียนใกล้บ้านก็ได้

การจัดการเรียนการสอนโดยร่วมกับโรงเรียนอาจต่างกันไปตามแต่ว่าจะมีการตกลงร่วมกับโรงเรียนอย่างไร อาจจะทางบ้านจัดการเรียนการสอนเองหมดแล้วส่งร่องรอยการเรียนรู้ให้โรงเรียนเพื่อเทียบประเมินการเลื่อนชั้น, เข้าร่วมเรียนบางวิชาหรือร่วมทำกิจกรรมบางอย่างกับทางโรงเรียนควบคู่ไปด้วย เป็นต้น

มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม

สำหรับระดับประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 ถ้าอยากเรียนแบบในโรงเรียนแต่ไม่ไปโรงเรียนก็สามารถเรียนผ่านมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมได้ โดยเค้าจะมีคู่มือการเรียนการสอนให้ดาวน์โหลดได้ด้วย แล้วก็ค่อยไปสอบเทียบวุฒิเอาในภายหน้า หรืออาจจะยื่นจดทะเบียนกับเขตฯโดยส่งแผนการเรียนตามมูลนิธิการศึกษาทางไกลฯก็คงได้ (ไม่เคยถามนะคะ แต่คิดว่าน่าจะได้ ครอบครัวคงต้องคุยกับเขตฯดู)

สถาบันการศึกษาทางไกล

การ ศึกษาทางไกลเป็นวิธีการจัดการศึกษาที่ใช้สื่อในการถ่ายทอดความรู้ เนื้อหาวิชา และมวลประสบการณ์ต่างๆ เป็นการจัดการศึกษานอกโรงเรียนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ของกระทรวงศึกษาธิการ 2 ระดับ ได้แก่ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

ข้อมูลต่างๆ ตอนนี้อ่านจากหน้าเว็บเก่าจะมีครบถ้วนกว่า สำหรับหลักการจัดการศึกษา วิธีเรียน ตัวอย่างใบสมัคร รายวิชา สามารถอ่านได้ที่ > http://www.dei.ac.th/old/genertal03032554.html

Distance Learning หลักสูตรต่างประเทศ

อันนี้ขอให้ถามอากู๋เอาได้เลย มีหลากหลายให้เลือก ซื้อหลักสูตรแล้วเค้าก็จะส่งหนังสือ ส่งข้อสอบมาให้เราถึงบ้าน เรียนเอง อ่านเอง สอบ แล้วก็ค่อยมายื่นเทียบวุฒิเมืองไทย

สอบเทียบวุฒิมัธยมปลายด้วยระบบต่างประเทศ

เท่าที่รู้จักและนิยมในไทยมีอยู่ 2 อย่าง คือ

  • General Educational Development (GED) เป็นระบบของอเมริกา โดยมีข้อกำหนดคร่าวๆ คือ ผู้สอบต้องมีอายุ 17 ปีขึ้นไป โดยต้องสอบให้ผ่านทั้งหมด 5 วิชา ได้แก่ Language Arts: Writing, Social Studies, Science, Language Arts: Reading และ Mathematics ผู้ที่สอบผ่าน GED จะได้รับใบแจ้งผลการเรียน (Transcript) และประกาศนียบัตรการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของ GED (Diploma) ซึ่งสามารถนำไปเทียบวุฒิมัธยมปลายได้
  • Internation General Certificate of Secondary Education (IGCSE) เป็นระบบของอังกฤษ สอบเพื่อเทียบจบ ม. ปลายเช่นเดียวกับ GED แต่มีข้อกำหนดที่แตกต่างกัน เช่น IGCSE ไม่จำกัดอายุ และคุณวุฒิของผู้สอบ และมีวิชาให้เลือกสอบมากถึง 50 วิชา โดยเราสามารถเลือกสอบวิชาใดก็ได้ ให้ผ่านครบ 5 วิชา ก็จะสามารถนำใบรับรองผลสอบจากมหาวิทยาลัย Cambridge เพื่อขอเทียบเท่าวุฒิมัธยมศึกษาตอนปลายจากกระทรวงศึกษาธิการ โดยในประเทศไทยสามารถติดต่อขอสอบได้ที่ British Council โดยมีเปิดให้สอบปีละ 2 ช่วง คือ เดือน พฤษภาคม – มิถุนายน และ อีกช่วงหนึ่งประมาณ เดือนตุลาคม – พฤศจิกายน

สำหรับการสอบ GED และ IGCSE ต้องสอบเป็นภาษาอังกฤษ ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถถามอากู๋เพิ่มได้มากมายค่ะ

จำนวนเด็กนักเรียน Homeschool ในแต่ละประเทศและเปอร์เซ็นต์ (%) แสดงจำนวนเปรียบเทียบกับจำนวนนักเรียนในระบบทั้งประเทศ

  • สหรัฐอเมริกา ประมาณ 2,500,000 คน (3%)
  • แคนาดา ประมาณ 100,000 คน (1.8%)
  • นิวซีแลนด์ 6,573 คน (0.8%)
  • ออสเตรเลีย ประมาณ 30,000 คน (0.75%)
  • สหราชอาณาจักร 60,544 คน (0.7%)
  • แอฟริกาใต้ 50,000 – 75,000 คน (0.6%)
  • รัสเซีย 50,000 – 100,000 คน (0.5%)
  • ชิลี 8,000 – 15,000 คน (0.3%)
  • ฟินแลนด์ 437 คน (0.07%)
  • ฟิลิปปินส์ ประมาณ 12,000 คน (0.04%)
  • ไทย ประมาณ 1,000 คน (0.01%)

เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศแล้ว จำนวนเด็กโฮมสคูลในไทยยังถือว่ามีจำนวนไม่มาก คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อนักเรียนในระบบแล้ว มีเพียงแค่ 0.01% 

และนี่ก็คือประเด็นสำคัญจากประเทศต่างๆ ที่เราได้ค้นพบในระหว่างรวบรวมข้อมูล

“จำนวนนักเรียนโฮมสคูลในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น 40%
ภายใน เวลา 3 ปี 2015-2018”

(BBC News) 

เริ่มต้นเรียนภาษาจีนตั้งแต่เด็ก: 10 เหตุผลที่คุณไม่ควรพลาด
“เริ่มต้นเรียนภาษาจีนตั้งแต่เด็ก: 10 เหตุผลที่คุณไม่ควรพลาด”

ในยุคที่โลกเป็นหมู่บ้านโลกเล็กๆ และการสื่อสารข้ามชาติเป็นเรื่องปกติ การรู้ภาษาที่หลากหลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและสำคัญมากขึ้น ภาษาจีน ซึ่งเป็นภาษาที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลก กลายเป็นภาษาที่คนทั่วโลกสนใจและต้องการเรียนรู้มากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับจีนอย่างมาก บทความนี้ ที่มีชื่อว่า "เริ่มต้นเรียนภาษาจีนตั้งแต่เด็ก: 10 เหตุผลที่คุณไม่ควรพลาด" จะช่วยให้คุณเข้าใจว่าทำไมการเรียนภาษาจีนตั้งแต่เด็กถึงจะสำคัญ และเป็นเหตุผลอะไรที่คุณควรเริ่มเรียนภาษาจีนตั้งแต่วันนี้ ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ปกครองที่ต้องการให้ลูกเรียนภาษาจีน หรือคุณเองที่ต้องการเรียนภาษาใหม่ [...]

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *